๑. คำไทยกลางซ้อนกับคำไทยกลาง เช่น
หัวหู แข้งขา เก้อเขิน แก้ไข ใหญ่โต หน้าตา บ้านเรือน ดินฟ้า เป็ดไก่ โต้แย้ง
ทักท้วง ชุกชุม
๒. คำไทยกลางซ้อนกับคำไทยถิ่น เช่น
พัดวี – วี ภาษาถิ่นใต้ หมายถึง พัด
เสื่อสาด – สาด ภาษาถิ่นใต้ หมายถึง เสื่อ
อ้วนพี – พี ภาษาถิ่นใต้ หมายถึง อ้วน
เข็ดหลาบ – หลาบ ภาษาถิ่นใต้ หมายถึง เข็ด
เติบโต – เติบ ภาษาถิ่นใต้ หมายถึง โต
อิดโรย – อิด ภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง เหนื่อย
ละทิ้ง – ละ ภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง ทิ้ง
เก็บหอม – หอม ภาษาถิ่นเหนือ หมายถึง ออม
บาดแผล – บาด ภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง แผล
ยุ่งยาก – ยาก ภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง ยุ่ง
๓. คำไทยกลางซ้อนกับคำต่างประเทศ เช่น
ข้าทาส – ทาส ภาษาบาลี – สันสฤต
จิตใจ – จิต ภาษาบาลี
ทรัพย์สิน – ทรัพย์ ภาษาสันสฤต
โง่เขลา – เขลา ภาษาเขมร
แบบแปลน – แปลน ภาษาอังกฤษ – plan
๔. คำต่างประเทศซ้อนกับคำต่างประเทศ เช่น
สรงสนาน – สรง ภาษาเขมร
สนาน – ภาษาสันสฤต
ทรัพย์สมบัติ – ทรัพย์ ภาษาสันสฤต
สมบัติ – ภาษาบาลี
เหตุการณ์ – เหตุ , การณ์ ภาษาบาลี
รูปทรง – รูป ภาษาบาลี
ทรง – ภาษาเขมร
อิทธิฤทธิ์ – อิทธิ ภาษาบาลี
ฤทธิ์ – ภาษาสันสฤต
เลอเลิศ – เลอ , เลิศ ภาษาเขมร
เฉลิมฉลอง – เฉลิม , ฉลอง ภาษาเขมร
๕. คำซ้อนที่ซ้อนกัน ๒ คู่ จะปรากฏในลักษณะดังนี้
ก.มีสัมผัสที่คู่กลาง เช่น อุปถัมภ์ค้ำชู ล้มหายตายจาก ไฟไหม้ไต้ลน เจ็บไข้ได้ป่วย ยิ้มแย้มแจ่มใส เจ็บท้องข้องใจ เก็บหอมรอมริบ แลบลิ้นปลิ้นตา ว่านอนสอนง่าย กินเหล้าเมายา ขี้หดตดหาย ขนมนมเนย
ข.มีพยางค์หน้าซ้ำกัน เช่น ปากเปียกปากแฉะ ชั่วครู่ชั่วยาม ถึงพริกถึงขิง อาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลา น้ำหูน้ำตา เป็นฟืนเป็นไฟ คุ้มดีคุ้มร้าย มีชื่อมีเสียง มิดีมิร้าย ความคิดความอ่าน หนักอกหนักใจ ไม่มากไม่น้อย

ลักษณะคำซ้อนดังที่กล่าวมานี้ จะสังเกตเห็นว่า
๑.ถ้าคำหน้ามีพยางค์เดียว คำที่นำมาซ้อนจะใช้คำพยางค์เดียว ถ้าคำหน้า ๒ พยางค์ คำที่นำมาซ้อนจะใช้คำ ๒ พยางค์ด้วย ทั้งนี้เพื่อการถ่วงดุลทางเสียง
๒.คำที่นำมาซ้อนกันมักเป็นคำประเภทเดียวกันทั้งนี้เพราะช่วยขยายความหมายให้ชัดเจนขึ้นดังตัวอย่าง
คำนาม – คำนาม เช่น แข้งขา ม้าลา บ้านเรือน เรือดไร
คำกริยา – คำกริยา เช่น ดูดดื่ม เหลียวแล ร้องรำ กดขี่
คำวิเศษณ์ – คำวิเศษณ์ เช่น ขมขื่น ซื่อตรง ใหญ่โต เร็วไว
ลักษณะของความหมายที่เกิดจากคำซ้อน
เมื่อนำคำมาซ้อนกันแล้ว จะเกิดความหมายขึ้นในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
๑. ความหมายคงเดิม คือ ความหมายก็ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ซากศพ อ้วนพี โต้แย้ง สูญหาย
๒. ความหมายกว้างออก คือ ความหมายจะกว้างกว่าความหมายในคำเดิม เช่น
ตับไตไส้พุง หมายถึง อวัยวะภายในอะไรก็ได้ ไม่ได้หมายเฉพาะอวัยวะ ๔ อย่างนี้เท่านั้น
ไฟไหม้ไต้ลน หมายถึง ร้อนอกร้อนใจ
หมูเห็ดเป็ดไก่ หมายถึง อาหารหลายชนิด
ถ้วยโถโอชาม หมายถึง ภาชนะที่ใช้ในครัว
กินข้าวกินปลา หมายถึง กินอาหาร
ปู่ยาตายาย หมายถึง บรรพบุรุษ
ขนมนมเนย หมายถึง อาหารประเภทของหวาน
๓. ความหมายย้ายที่ คือ ความหมายจะเป็นอย่างอื่นซึ่งไม่ตรงกับความหมายของคำเดิม เช่น
ขมขื่น หมายถึง ความรู้สึกเป็นทุกข์ มิได้หมายถึงรสขมและขื่น
เหลียวแล หมายถึง การเอาใจใส่เป็นธุระ
เดือดร้อน หมายถึง ความลำบากใจ
เบิกบาน หมายถึง ความรู้สึกร่าเริงแจ่มใส
ดูดดื่ม หมายถึง ความซาบซึ้ง
๔. ความหมายอยู่ที่คำหน้า เช่น เป็นลมเป็นแล้ง ขันหมากรากพลู ใต้ถุนรุนช่อง
อายุอานามความคิดความอ่าน มีชื่อมีเสียง ใจคอ ( ไม่ค่อยจะดี ) หัวหู ( ยิ่งเหยิง ) มิดีมิร้าย
๕.ความหมายอยู่ที่คำหลัง เช่น เสียอกเสียใจ ดีอกดีใจ ว่านอนสอนง่าย ตั้งเนื้อตั้งตัว เครื่องไม้เครื่องมือ หูตา ( มืดมัว )
๖. ความหมายอยู่ที่คำต้นและคำท้าย เช่น ผลหมากรากไม้ อดตาหลับขับตานอน ตกไร้ได้ยาก ติดสอยห้อยตาม เคราะห์หามยามร้าย
๗.ได้ความหมายทั้งสองคำ เช่น ดินฟ้าอากาศ เอวบางร่างน้อย ยศถาบรรดาศักดิ์ อำนาจวาสนา บุญญาบารมี
๘.ความหมายของคำคู่หน้ากับคู่หลังตรงกันข้าม เช่น หน้าไหว้หลังหลอก ปากหวานก้นเปรี้ยว หน้าเนื้อใจเสือ หน้าชื่นอกตรม ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ไม่มากไม่น้อย
๙.คำ ๆ เดียวกัน เมื่อนำคำต่างกันมาซ้อน จะทำให้ได้ความหมายต่าง ๆ กันออกไป เช่น
แน่น – แน่นหนา แน่นแฟ้น
กีด – กีดกัน กีดขวาง
หลอก – หลอกลวง หลอกล่อ หลอกหลอน
คม – คมคาย คมขำ คมสัน
แอบ – แอบอิง แอบอ้าง แอบแฝง
ขัด – ขัดสน ขัดข้อง ขัดขืน ขัดขวาง ขัดยอก

เรามาดูการสอนเรื่องคำซ้อนแบบที่เข้าใจง่าย ๆ กัน